ในระบบสุริยะจักรวาลที่มีโลกของเราเป็นส่วนหนึ่ง ดาวพฤหัสบดี ถือได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเป็นที่รู้จักของคนบนโลกมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งชาวโรมันได้ตั้งชื่อให้กับดาวพฤหัสบดีว่า Jupiter อันเป็นชื่อเทพเจ้าของพวกเขานั่นเอง เมื่อเวลาผ่านไป บุคคลแรกที่พบว่า ดาวพฤหัสบดี ไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่อย่างโดดๆ แต่ว่ามีดวงจันทร์ล้อมรอบถึงสี่ดวง นั่นก็คือ กาลิเลโอ กาลิเลอิ นักดาราศาสตร์คนสำคัญของโลกนั่นเอง ซึ่งในภายหลังเราก็พบว่า ดาวพฤหัสบดี มีดวงจันทร์ล้อมรอบถึง 67 ดวง แม้ว่าสภาพภูมิอากาศบนดาวพฤหัสบดี จะไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยและประกอบไปด้วยกลุ่มแก๊สเป็นหลัก ทว่า ดาวที่ใหญ่ที่สุดดวงนี้ก็มีหลายอย่างที่น่าค้นหา จนนำไปสู่การส่งยานอวกาศหลายลำขึ้นไปสำรวจดาวพฤหัสบดีนั่นเอง
โดยยานอวกาศลำแรกที่ขึ้นไปสำรวจดาวพฤหัสบดี ก็คือ ยาน Pioneer 10 ที่ได้บินผ่านและถ่ายรูปของดาวพฤหัสบดีส่งกลับมา หลังจากนั้นก็มียาน Galileo ที่สามารถโคจรรอบดาวพฤหัสบดีเป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากดาวพฤหัสบดี เป็นดาวที่มีความลับให้ศึกษามากมาย เพราะฉะนั้นแล้ว Juno จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อศึกษาดาวพฤหัสบดีโดยเฉพาะ ซึ่งชื่อเต็มของยานลำนี้ก็คือ Jupiter Near-polar Orbiter โดยยานลำนี้ใช้พลังงานจาก Solar Arrays หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันดีเลยคือ Solar Cell นั่นเอง ยาน Juno มีระบบการสื่อสารที่ดีเยี่ยม โดย NASA สามารถติดต่อกับยานอวกาศได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งยาน Juno ได้ถูกปล่อยจากสถานีอวกาศ Cape Ceneveral Airforce Station ในวันที่ 5 สิงหาคม 2554 และใช้เวลาเดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดี นานถึง 5 ปี
ทั้งนี้ยานอวกาศ Juno ได้เดินทางถึงดาวพฤหัสบดี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 โดยมีภารกิจสำคัญก็คือ ศึกษาชั้นบรรยากาศ แก่นของดาว และการศึกษาเรื่องการเกิด aurora ที่ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาว การศึกษาดาวพฤหัสบดีของ ยานอวกาศ Juno จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนครบ 37 รอบ โดยจะกินเวลาทั้งสิ้น 24 เดือน ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ยานอวกาศ Juno จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและถูกแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดี ทำลายต่อไป เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของยานอวกาศ Juno ที่มีต่อดาวพฤหัสบดี ซึ่งเราก็เชื่อว่า ในระหว่างที่ ยานอวกาศ Juno ทำภารกิจอยู่นั้น จะช่วยไขความลับและเก็บข้อมูลต่างเกี่ยวกับดาวพฤหัสบดี เพื่อที่เราจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป และก็เชื่อต่อไปว่า ในเวลาอีกไม่นาน เราน่าจะมีโอกาสได้เห็น ยานอวกาศลำอื่น ขึ้นไปสำรวจดาวพฤหัสบดีอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้อาจจะเป็นการสำรวจเชิงลึกมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้